วันนี้ (29 มีนาคม 2566) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 3 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ และรองเลขาธิการ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ร่วมแถลงข่าวกรณี นางสาวอัง ผู้เสียหายร้องขอความเป็นธรรมถูกบุคคลแอบอ้างว่าเป็นทนายความหลอกลวงจนสูญเสียเงินจำนวนนับล้านบาท สืบเนื่องจากผู้เสียหาย ซึ่งมีอาชีพขายต้นไม้ จำพวกไม้ด่าง อยู่ที่จังหวัดเชียงราย ได้รับการติดต่อจากนายวัชรพงษ์เพื่อขอซื้อต้นไม้จำนวนหลายครั้ง รวมเป็นเงินประมาณ 600,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ปรากฏว่านายวัชรพงษ์ พร้อมด้วยภรรยา และตำรวจ สภ.พญาเม็งราย ได้เดินทางมาที่บ้านของผู้เสียหาย พร้อมกับนำต้นไม้ที่เคยสั่งซื้อมาคืนผู้เสียหายและขอเงินทั้งหมดคืน โดยนายวัชรพงษ์ อ้างว่า ภรรยาทราบเรื่องจึงเกิดความไม่พอใจ เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงได้เดินทางมาที่ สภ.พญาเม็งราย ภายหลังจากได้พูดคุยกันผู้เสียหายจึงยินยอมคืนเงินให้แก่นายวัชรพงษ์ หลังจากนั้น จึงได้เดินทางไปที่ธนาคารแห่งหนึ่ง สาขาหอนาฬิกา จังหวัดเชียงราย เพื่อขอเบิกถอนเงินที่มีอยู่ในบัญชี จำนวน 3,200,000 บาท แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลับแจ้งว่าไม่มีเงินอยู่ในบัญชีดังกล่าว หลังจากนั้นผู้เสียหายจึงได้ติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือได้ จึงตัดสินใจหาทนายความเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล จนได้มารู้จักกับนายสงกรานต์ หรือนายธานี ซึ่งอ้างว่าเป็นทนายความพร้อมกับส่งใบแต่งทนายความมาให้ผู้เสียหาย เซ็นแต่งตั้ง จนทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นทนายความจริง จึงได้ตกลงว่าจ้างพร้อมกับโอนเงินเป็นค่าทนายความและ ค่าดำเนินการอื่นๆ ให้แก่นายสงกรานต์ หรือนายธานี รวมเป็นเงินจำนวนเกือบ 2 ล้านบาท
หลังจากนั้นบุคคลที่อ้างว่าเป็นทนายความได้แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้ว แต่เมื่อผู้เสียหายสอบถามถึงเอกสารการยื่นฟ้องและเลขคดี ผู้ที่อ้างว่าเป็นทนายความกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมส่งให้ และที่อ้างว่าเป็นทนายความบอกให้ไปติดต่อผู้พิพากษาที่ศาลจังหวัดเทิง ผู้เสียหายจึงได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเทิงเพื่อขอคัดถ่ายเอกสารจากศาล แต่เมื่อไปถึงก็ได้พบกับบุคคลที่แอบอ้างถึงผู้พิพากษาและสามารถคัดถ่ายเอกสารให้ได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 18,160 บาท ซึ่งผู้เสียหายก็หลงเชื่อและโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับเอกสารใด ๆ
ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่บุคคลที่อ้างว่าเป็นทนายความแจ้งว่า เป็นวันนัดฟังคำพิพากษา ผู้เสียหายจึงได้ทำการตรวจสอบไปยังศาลจังหวัดเทิง แต่ไม่ปรากฏชื่อของผู้เสียหายอยู่ในสารบบของศาล ทำให้เชื่อว่า ถูกหลอกลวง
ผู้เสียหายจึงได้มาขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบเงินในบัญชีที่หายไป และดำเนินการกับบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นทนายความ เพื่อดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ในระหว่างที่เกิดเรื่องดังกล่าวเป็นเหตุให้มารดาของสามีเกิดความเครียดอย่างรุนแรง จึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย ซึ่งก่อนฆ่าตัวตายได้เขียนจดหมายทิ้งไว้ โดยเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน