ฎีกาเด่นรายวันโดยที่ปรึกษา ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ …
3670.การฎีกาในคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คำพิพากษาฎีกาที่ 4243/2567 (เล่ม 11 หน้า 2563) การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเอง โดยตรง ต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้นสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือฎีกาคดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญา ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40
คดีส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งตามคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 และมาตรา 247 วรรคหนึ่งและวรรคสาม เช่นนี้คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 244/1 จำเลยจะฎีกาได้ต่อเมื่อยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกา เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยและยกฎีกาของจำเลยที่ 1