สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์กับหลักนิติธรรม (The Rule of law)
โดย… ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ
สภาทนายความ เป็นองค์กรวิชาชีพทางกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 7 ดังนี้
1.ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ
2.ควบคุมมรรยาทของทนายความ
3.ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ
4.ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ
5.ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่
เกี่ยวกับกฎหมาย
1.อำนาจหน้าที่
1.1 จดทะเบียนและออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528
1.2 ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาทนายความ และตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งกำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2528 มาตรา 7 และมาตรา 8
2.รายได้ของสภาทนายความ
สภาทนายความ มีรายได้ 2 ประเภท คือรายได้ในการบริหารองค์กร (มาตรา 9) และรายได้ที่นำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (กองทุนช่วยเหลือฯ)
2.1 รายได้สภาทนายความในการบริหารองค์กร ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 อาจมีรายได้ดังนี้
(1) ค่าจดทะเบียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528
(2) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(3) รายได้จากทรัพย์สินหรือกิจการอื่น
(4) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์
2.2 รายได้ที่นำมาใช้ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 (มาตรา 77) ได้กำหนดให้มีกองทุนช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ประกอบด้วย
(1) เงินที่สภาทนายความจัดสรรให้เป็นประจำปี เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของเงินรายได้ของสภาทนายความตามมาตรา 9(1) ของปีที่ล่วงมา
(2) เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
(3) ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และ
(4) ดอกผลของ (1) (2) (3)
3. การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย
พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 7 กำหนดให้สภาทนายความมีหน้าที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ภายใต้การกำกับและดูแลของคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายมีองค์ประกอบด้วยนายกสภาทนายความ เป็นประธานกรรมการ อุปนายกเป็นรองประธานกรรมการ เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการและบุคคลอื่นอีกไม่เกินแปดคนที่คณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้ที่เป็นทนายความมาแล้วรวมกันไม่น้อยกว่าสิบปี
จากภารกิจในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายของสภาทนายความ ซึ่งมีขอบเขตการปฏิบัติงานคลอบคลุมพื้นที่ทุกเขตอำนาจศาลจังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมี 114 ศาลจังหวัด และตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของสภาทนายความและอำนาจหน้าที่ของกรรมการสภาทนายความ พ.ศ.2556 สภาทนายความ ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรองรับและปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายภายใต้ “โครงการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ” โดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลในแต่ละปีงบประมาณ และการดำเนินงานได้มีการพัฒนารูปแบบของหน่วยงานและโครงการต่างๆ ดังนี้
1. สำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย (โครงการช่วยเหลือฝ่ายคดี)
2. สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม
3. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
4. สำนักงานคณะกรรมการคดีปกครอง
5. สำนักงานคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
6. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
7. โครงการทนายความอาสาประจำส่วนราชการ
8. โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ
9. โครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย
10. ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นาทวี , ปัตตานี , ยะลา , เบตง , นราธิวาส)
11. โครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง ที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน
12. โครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในกรณีป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
13. สำนักงานคดีคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ
ภารกิจโครงการให้ความช่วยเหลือของสภาทนายความ
1. โครงการช่วยเหลือฝ่ายคดี สภาทนายความได้จัดให้มีการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการว่าต่าง แก้ต่างในคดี ทั้งคดีแพ่ง และอาญา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
2. โครงการให้ความช่วยเหลือในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ สภาทนายความได้จัดให้มีการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
3. โครงการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน สภาทนายความได้จัดให้มีการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
4. โครงการให้ความช่วยเหลือด้านคดีปกครอง สภาทนายความได้จัดให้มีการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในด้านคดีปกครอง ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีสำนักงานคดีปกครอง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
5. โครงการให้ความช่วยเหลือด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท สภาทนายความได้จัดให้มีการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดนทนายความผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย ทำหน้าที่คอยช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้คู่พิพาทเจรจาตกลงกันจนเกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายและหากยุติข้อพิพาทได้จะส่งผลทำให้ปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลลดลง เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และยังช่วยให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณในกระบวนพิจารณาคดีของศาล โดยมีสำนักระงับข้อพิพาททางเลือก (ไกล่เกลี่ย ข้อพิพาท) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
6. โครงการให้ความช่วยเหลือด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาทนายความได้จัดให้มีการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
7. โครงการทนายความอาสาประจำส่วนราชการ สภาทนายความจัดทนายความอาสาฯ บริการให้คำปรึกษา แนะนำด้านกฎหมาย ขั้นตอนดำเนินคดีแก่ประชาชน
(1) ประจำศาลส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร 15 แห่ง แบ่งเป็นปฏิบัติงาน วันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 นาฬิกา
(2) ประจำศาลส่วนภูมิภาค 106 ปฏิบัติงานวันจันทร์ – วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 นาฬิกา
(3) ประจำ ณ ที่ทำการสภาทนายความ เลขที่ 249 ถนนพหลโยธิน แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 10 คนต่อวัน แบ่งเป็นให้บริการประชาชน Walk in จำนวน 5 คนต่อวัน และให้บริการทางโทรศัพท์สายด่วน 1167 จำนวน 5 คนต่อวัน ปฏิบัติงานทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 นาฬิกา โดยมีสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายและสำนักงานทนายความอาสาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
8. โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้บริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไป สนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเพิ่มช่องทางให้แก่ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิทางกระบวนการยุติธรรมในการขอรับคำปรึกษากฎหมายได้มากขึ้น รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
การดำเนินโครงการ
1) จัดอบรมชี้แจงผู้ปฏิบัติงานทนายความอาสาและพนักงานสอบสวน
2) จัดทนายความอาสาบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมายประจำสถานีตำรวจแก่ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และ ประชาชน ในปัจจุบันมีทนายความอาสาฯ นั่งให้คำปรึกษาที่สถานีตำรวจ จำนวน 344 สถานี แบ่งเป็น สถานีตำรวจนครบาล (บก.น.1-9) กรุงเทพมหานคร จำนวน แบ่งเป็น 65 สถานี และสถานีตำรวจภูธร ภาค 1-9 จำนวน 238 สถานี และ สถานีตำรวจนำร่อง จำนวน 41 สถานี
3) จัดทนายความอาสาตอบปัญหาทางเว็บไซต์ http://board.lawyers.inth/forum.php ณ ที่ทำการสภาทนายความ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น
การปฏิบัติงานของทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ เป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องมีความรับผิดชอบสูงและเป็นบุคลากรที่สำคัญของสภาทนายความที่จะช่วยเหลือประชาชนในการแก้ไขปัญหา อุปสรรค และข้อขัดข้องต่างๆที่เกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้นให้แก่ประชาชน และยังเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อภาครัฐและองค์กร “สภาทนายความ” กับประชาชน
9. โครงการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย สภาทนายความได้จัดโครงการเผยแพร่ความรู้กฎหมายเบื้องต้นให้กับประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษา ผู้นำชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งจากการบรรยายกฎหมายจากรายการกฎหมายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อโทรทัศน์ท้องถิ่นและเอกสารเผยแพร่สำหรับประชาชนทั่วไป ได้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายตลอดจนข้อปฏิบัติต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดนำกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปใช้ได้อย่างถูกต้อง สามารถดูแลตนเองได้และไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยมีสำนักงานทนายความอาสาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
10. โครงการศูนย์นิติธรรมศูนย์สมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนาทวี จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดเบตง และจังหวัดนราธิวาส สภาทนายความได้จัดโครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.) และกองทัพภาค 4 ส่วนหน้า และหน่วยงานความมั่นคง กระทรวงยุติธรรม เพื่อนำความสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
11. โครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง ที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชน สภาทนายความได้จัดโครงการปฏิรูปทนายความอาสา ทนายความขอแรง ที่ปรึกษากฎหมายของเด็กและเยาวชนเพื่อเพิ่มเติมความรู้ ศักยภาพ และประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด โดยมีสำนักงานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล
12. โครงการให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในกรณีป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาทนายความได้จัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในกรณีป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ในส่วนกลาง(กรุงเทพมหานคร) และส่วนภูมิภาค (ภาค 1 – ภาค 9) และที่ทำการประธานสภาทนายความจังหวัด โดยมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
13. สำนักงานคดีคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ สภาทนายความได้มีการจัดตั้งหน่วยงานรองรับและปฏิบัติตามภารกิจให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายภายใต้ “โครงการช่วยเหลือกฎหมายเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ” เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน องค์กรภาคเอกชน องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ หน่วยงานราชการ องค์กรมหาชน สนับสนุน ส่งเสริมช่วยเหลือรัฐในการคุ้มครอง ป้องกัน รักษา สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
สภาทนายความเห็นว่า งานให้คำปรึกษาปัญหาแก่ประชาชน เป็นภารกิจที่สำคัญสามารถทำให้ประชาชนได้เข้าใจปัญหากฎหมายที่ตนเองประสบอยู่ ทำให้สามารถคลี่คลายความเดือดร้อนของประชาชนในเบื้องต้นลงได้ ซึ่งจะอำนวยความยุติธรรมและความสงบสุขมาสู่สังคม สภาทนายความจึงได้สนองต่อความต้องการของประชาชนโดนการขยายหน่วยปฏิบัติงานเพื่อให้บริการปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชนในวงกว้างขึ้น