เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของคดี กรณีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อชาวประมงในจังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสภาทนายความได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยกลุ่มผู้เสียหายซึ่งประกอบด้วยชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดสมุทรสงคราม ได้เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,486,450,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเสียหายจากการขาดรายได้ในอาชีพประมงและการถูกละเมิดสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
โดยในวันนี้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้นัดไต่สวนคำร้องของสภาทนายความในการร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม ทนายโจทก์ ที่ 1-10 มาศาล จำเลยที่ 1-9 ยื่นคำคัดค้านการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันนี้ทนายโจทก์ที่ 1-10 ได้รับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน ทนายโจทก์ที่ 1-10 แถลงต่อศาลว่าขอไปตรวจสอบคำคัดค้านการดำเนินคดีแบบกลุ่มของจำเลยที่ 1-9 ก่อนและจะนำพยานเข้าไต่สวนในนัดหน้า โดยโจทก์ที่ 1-10 แถลงว่าประสงค์จะไต่สวนพยานทั้งสิ้น 5 ปาก ใช้เวลาในการไต่สวนทั้งสิ้น 1 นัดครึ่ง ทนายจำเลย ทั้ง 9 แถลงว่าประสงค์จะสืบพยานทั้งสิ้น 7 ปาก
ศาลให้เลื่อนไปนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่มในวันที่ 21,24 และ 30 มกราคม 2568 ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายจัดทำบันทึกถ้อยคำแทนการสืบพยานยื่นต่อศาลก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน
ส่วนการพิจารณาคดีศาลปกครอง กรณีประชาชนผู้ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่อำเภออัมพวา และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน 54 คน ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ 18 หน่วยงาน ต่อศาลปกครองกลาง ฐานความผิดละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่นั้น ศาลปกครองกลางมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างผู้ถูกกล่าวหายื่นแก้ข้อกล่าวหา