สภาทนายความยื่นฟ้องคดีปกครอง
กรณีปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ
วันนี้เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. ที่ศาลปกครอง ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบหมายให้นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นำคณะทำงานคดีปกครองของสภาทนายความ โดยมีนายปรเมษฐ์ แดนดงยิ่ง รองประธานกรรมการสำนักงานคดีปกครอง เป็นหัวหน้าคณะทำงาน พร้อมด้วยนายพงศ์พันธ์ ศรีเสวตร์ รองประธานกรรมการและประธานอนุกรรมการสำนักงานคดีปกครอง นายชัยยุทธ รัตนปันตี รองประธานกรรมการสำนักงานคดีปกครอง นายสุริยง คงกระพันธ์ อนุกรรมการและเลขานุการสำนักงานคดีปกครอง และนายภูไท กลิ่นจันทร์ รองประธานอนุกรรมการสำนักงานคดีปกครอง พร้อมคณะทำงานร่วมในคดีสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับมอบอำนาจจากตัวแทนประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและอาชีพประมงพื้นบ้านในพื้นที่อำเภออัมพวา และอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม จำนวน ๕๔ คน ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางรวมทั้งหมด ๑๘ ราย ได้แก่ ๑. กรมประมง ๒. อธิบดีกรมประมง ๓. คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ๔. คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง ๕. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๖. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๗. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๘. อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๙. คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ๑๐. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๑๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๑๒. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ๑๓. คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ๑๔. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ๑๕. อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ๑๖. กระทรวงมหาดไทย ๑๗. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ๑๘. กระทรวงการคลัง
คดีนี้เป็นการฟ้องหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายหลายฉบับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕ พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ๒๕๕๘ และพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรซึ่งเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่คนและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาดังนี้
ข้อ ๑. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามกฎหมายที่กำหนดหน้าที่และอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีแต่ละคน โดยกำหนดมาตรการหรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อควบคุม ป้องกัน แก้ไข หรือระงับยับยั้ง การขยายพันธุ์หรือการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) มิให้เกิดการขยายพันธุ์หรือแพร่ระบาดและเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์น้ำ ระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่และประชาชนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำมีส่วนร่วมในการดำเนินการ ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ ๒. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดกำหนดมาตรการและดำเนินการประเมินความเสียหาย รวมทั้งดำเนินการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ทั่วประเทศให้กลับมาเป็นพื้นที่มีทรัพยากรสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ มีความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ ๓. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑๓ ถึงที่ ๑๗ ร่วมกันดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อประกาศให้พื้นที่ ๑๙ จังหวัด ตามประกาศประกาศกรมประมงและพื้นที่จังหวัดอื่นทั่วประเทศไทยที่พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ให้เป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยและประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินเพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่และประชาชน ภายในเวลาที่ศาลกำหนด
ข้อ ๔. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดกำหนดมาตรการและดำเนินการเรียกร้องให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำเข้าปลาหมอคางดำ และผู้เกี่ยวข้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐตามมูลค่าความเสียหายทั้งหมดของทรัพยากรสัตว์น้ำ ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดแล้อม ที่ถูกทำลายหรือเสียหายจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ที่เกิดขึ้นจริง นับตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำเป็นต้นมาจนถึงวันฟ้อง และให้เรียกร้องค่าเสียหายในอนาคตเป็นรายปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำให้หมดไป รวมถึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดเรียกร้องให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ผู้นำเข้าปลาหมอคางดำดังกล่าวรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่รัฐเสียไปในการควบคุม กำจัด และป้องกันการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำตามจำนวนงบประมาณที่รัฐเสียไปตามความเป็นจริง
นอกจากนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่รายยังยื่นคำขอให้ศาลปกครองกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีนี้ โดยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบแปดรายใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องดำเนินการประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ ๑๙ จังหวัดตามประกาศของกรมประมงและทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มเติม รวมทั้งให้จ่ายค่าเสียหายตามที่ประเมินเบื้องต้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าสิบสี่และประชาชนทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) ทั่วประเทศเป็นกรณีเร่งด่วนด้วย