เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ ยื่นหนังสือให้สภาทนายความช่วยขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ เดินทางมา ยื่นหนังสือถึงนายกสภาทนายความ เพื่อร้องเรียนและยกระดับการแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ โดยเร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่นำพันธ์ปลาเข้ามาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายจรุงศักดิ์ ชะโกฏิ ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายฝึกอบรมและวิชาการ นายไพโรจน์ จำลองราษฎร์ รองประธานอนุกรรมการ ร่วมรับเรื่อง โดยเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย 1.กลุ่มประมงชานฝั่งบางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 2.กลุ่มรักหาดเจ้า อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 3.กลุ่มรักอ่าวไทย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 4.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตำบลยี่สาร จ.สมุทรสงคราม 5.กลุ่มเครือข่ายเพาะเลี้ยงคลองโคน จ.สมุทรสงคราม 6.เครือข่ายประมงพื้นบ้านบางแก้ว จ.สมุทรสงคราม 7.เครือข่ายเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ จ.สมุทรสงคราม 8.เครือข่ายผู้เลี้ยงปลากระชัง จ.สมุทรสงคราม 9.เครือข่ายสภาองค์กรของผู้บริโภค 10.กลุ่มผู้ใช้น้ำตำบลแพรกหนามแดง 11.กลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทะเลตำบลบางกระเจ้า สมุทรสาคร 12.กลุ่มอนุรักษ์มหาชัยฝั่งตะวันออกสมุทรสาคร 13.กลุ่มธนาคารปูม้า ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 14.เครือข่ายรักษ์ทะเลกรุงเทพและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความจะเข้าร่วมเป็นคณะทำงานระดับชาติกับคณะทำงานของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในระดับจังหวัด 7 จังหวัด รวมทั้งจะได้ทำการสอบข้อเท็จจริงว่าหน่วยงานรัฐที่อนุญาตให้บริษัทเอกชนใด เป็นผู้นำพันธ์ปลาเข้ามา ซึ่งจะได้เข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหากับความเดือดร้อนร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและบริษัทเอกชนที่ได้นำพันธ์ปลาเข้ามา ในการประชุมวันที่ 15 พฤษภาคม นี้