คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา – สภาทนายความ ร่วมหารือโครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ
วันนี้ ( 3 กุมภาพันธ์ 2566) เวลา 09.30 น. ณ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ได้เดินทางมาศึกษาดูงานสภาทนายความ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาทนายความ ประกอบด้วย นายสงคราม สกุลพราหมณ์ อุปนายกฝ่ายบริหาร นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสัญญาภัชร สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นางสาวศรินทร เลืองวัฒนะวณิช อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ นายชัยวัฒน์ บุญเกื้อ นายทะเบียนสภาทนายความ ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายฉัตรประพล แย้มเพริศศรี กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 1 ร่วมให้การต้อนรับ พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 1 พลเอก นิวัตร มีนะโยธิน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 2 พลตำรวจโท วิบูลย์ บางท่าไม้ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ 3 นายจัตุรงค์ เสริมสุข กรรมาธิการ นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม กรรมาธิการ นายธานี อ่อนละเอียด กรรมาธิการ นายณรงค์ รัตนานุกูล กรรมาธิการ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อนุกรรมาธิการ และนางพอฤทัย ณรงค์เดช นักวิชาการประจำคณะกรรมาธิการ
ในโอกาสนี้ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ทั้งคณะ ที่เดินทางมาศึกษาดูงานสภาทนายความ โดยทั้งสองหน่วยงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ได้ติดตามการดำเนินงานโครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ซึ่งเป็นโครงการหนึ่งในแผนปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม และผลสัมฤทธิ์ในโครงการ พร้อมรับฟังปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ จำนวน 203 สถานี ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาล (กรุงเทพมหานคร) จำนวน 50 สถานี และ สถานีตำรวจ ส่วนภูมิภาค (ภาค 1-9) จำนวน 153 สถานี โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน เพื่ออำนายความยุติธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางกฎหมายให้กับประชาชน โดยสภาทนายความมีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 500 สถานี เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรง สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงลดปริมาณคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และทำให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายการบริหารงานกระบวนการยุติธรรม และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา ได้มีความเห็นพ้องกับสภาทนายความในการขยายสถานีตำรวจ โดยจะนำข้อเสนอ ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในวันนี้ไปดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป