เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เวลา 11.00 น. ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์ และรองเลขาธิการ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ดร.ชัยชีพ ชโลปถัมภ์ กรรมการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย และนายฉัตรประพล แย้มเพริศศรี กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 1 ร่วมแถลงกรณี แม่เด็กอายุ 2 เดือน พาลูกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ติดฉลากยาผิด ว่า นายกสภาทนายความได้มอบหมายให้นายยุทธนา เนติศุภชีวิน กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 8 ลงพื้นที่ไปสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว โดยนางสาวขนิษฐา ยาเขียว แม่เด็กอายุ 2 เดือน บอกเล่าว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 พาบุตรชาย อายุ 2 เดือน เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เนื่องจากบุตรชายมีอาการตัวร้อน ไข้ขึ้น เบื้องต้นโรงพยาบาลวัดไข้และให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 4 คืน ตั้งแต่วันที่ 21 – 24 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งแพทย์แจ้งอาการบุตรชายว่าเป็นไวรัสผิวหนัง มีผื่นคันตามตัว เนื่องจากแพ้แพมเพิสบริเวณอัณฑะ แพทย์สั่งให้ไปรับยาที่ห้องยาของโรงพยาบาลโดยมียา 3 ชนิด ได้แก่ ยาแก้ไข้ ยาลดน้ำมูก คารามาย เมื่อไปถึงบ้านได้นำยาที่ได้รับจากโรงพยาบาลให้บุตรชายกินปรากฏว่าภายหลังบุตรชายกินยาไปสักพักได้มีอาการถ่ายเหลวหลายครั้งและอาเจียน จึงได้นำกลับไปโรงพยาบาลเดิมอีกครั้ง โดยได้ไปที่ห้องจ่ายยาเพื่อตรวจเช็คยาที่ได้รับมา เจ้าหน้าที่ห้องยาแจ้งว่าคนที่จ่ายยาให้บุตรชายออกเวรแล้ว จึงฝากขอโทษที่จ่ายยาผิด ผู้ร้องได้นำขวดยาคารามายทิ้งไว้ที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลและขวดยาดังกล่าวได้สูญหายไป จากนั้นโรงพยาบาลได้รักษาตัวบุตรชายแต่อาการไม่ดีขึ้นมีไข้ตลอดเวลา โรงพยาบาลได้นำตัวบุตรชายส่งตัวไปรักษาต่ออีกโรงพยาบาลหนึ่ง ระหว่างวันที่ 12 ธันวาคมถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2565 และออกมารักษาตัวที่บ้าน จนต่อมาผู้ร้องได้นำบุตรชายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง พบว่าบุตรชายติดเชื้อราในกระแสเลือดและเป็นเบาจืดจากนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานสาเหตุ คือ กินคารามายที่โรงพยาบาลแห่งแรกติดฉลากผิด โรงพยาบาลได้ให้เงินช่วยเหลือครั้งที่ 1 จำนวน 70,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 บาท ปัจจุบันบุตรชายกินนมยี่ห้ออื่นไม่ได้ นอกจากยี่ห้อนิวทริเซีย นิโอเดต แอลซีพี กระป๋องละ 1,500 บาท ทำให้ผู้ร้องและครอบครัวมีค่าใช้จ่ายที่ต้องดูแลรักษาบุตรชายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว จึงขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากสภาทนายความ