ผู้ประกอบอาชีพประมงวอนสภาทนายความช่วยเหลือ เหตุน้ำมันดิบรั่วที่อ่าวระยองกระทบระบบนิเวศและรายได้

วันนี้ (5 มกราคม 2566 ) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง จังหวัดระยอง ประมาณ 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายกับสภาทนายความ กรณีเกิดเหตุน้ำมันดิบใต้ทะเล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกหรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง รั่วไหลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานการประมงในอ่าวจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศและรายได้จากการประกอบอาชีพ โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ และว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ และกรรมการสิ่งแวดล้อม เป็นผู้รับเรื่อง
นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า กรณีนี้ส่งผลกระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมาก สภาทนายความจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา และเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความพอใจและเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย หากการเจรจาไม่เป็นผลจะนำไปสู่การฟ้องคดี โดยจะดำเนินการให้ประชาชนผู้เสียหายตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาล เพื่อดำเนินคดีแบบกลุ่ม
ด้านนายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความจะดูแลอย่างเต็มความสามารถ และให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงจะสำเร็จ
ด้านนายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ กล่าวว่า สภาทนายความจะดำเนินการในการเจรจาโดยใช้ทั้งหลักวิชาการและด้านกฎหมาย ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะมีความคืบหน้ามากกว่าให้ชาวบ้านเจรจากันเอง และนำไปสู่การเยียวยาที่รวดเร็วขึ้น
นายสมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ กล่าวว่า ผลกระทบเชิงลบต่ออ่าวระยองในเหตุการณ์น้ำมันรั่ว เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 มีมากกว่าคราวน้ำมันดิบรั่วไหล ณ จุดเดียวกัน เมื่อ 9 ปี ที่แล้ว (ปี พ.ศ. 2556) ปัญหานี้เป็นปัญหาเดิมที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ประกอบอาชีพประมงยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม
นายละม่อม บุญยงค์ ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องการประมง เปิดเผยว่า เหตุการณ์กรณีน้ำมันดิบรั่วไหลลงอ่าวระยอง เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านและอาชีพต่อเนื่องจังหวัดระยอง ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับรายได้จากการประกอบอาชีพ เนื่องจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งนี้ ยังไม่ทราบจำนวนรั่วไหลที่แน่ชัด เพราะมีการขนส่งน้ำมันดิบจากเรือถึงโรงกลั่นผ่านท่อแข็งที่มีความชำรุดทรุดโทรม ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งที่ชาวประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่ทำมาหากิน ผลของน้ำมันดิบรั่วไหลและการใช้สารเคมีกำจัดคราบน้ำมันในพื้นที่ ทะเลตื้นทำให้สัตว์น้ำหลายประเภทหายไปจากบริเวณอ่าวระยอง ซึ่งปัจจุบันเรือประมงหลายประเภทต้องจอดนิ่งอยู่ท่าเรือ เนื่องจากเรือออกไปไม่มีสัตว์น้ำให้จับ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งความขาดแคลนนี้ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อเนื่องไปถึงห่วงโซ่ นอกจากนี้การประมงพื้นบ้านและเรือขนาดกลางที่หากินได้จากจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหล ยังสร้างความหวาดระแวงต่อประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่จะตัดสินใจซื้ออาหารทะเล ทั้งที่เป็นวัตถุดิบและปรุงสำเร็จในจังหวัดระยอง
ทั้งนี้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบในครั้งนี้ ที่มาจากพื้นที่ปากน้ำระยองและเครือข่าย ต้องการที่จะเจรจาหาข้อยุติร่วมกันระหว่างบริษัทก่อมลพิษ กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ได้รับค่าเยียวยาที่เป็นธรรม เป็นการเรียกค่าชดเชยตามความเป็นจริงจากการสูญรายได้ที่ควรจะได้ โดยจากการได้รับความเสียหายในครั้งนี้กับทางบริษัทผู้ก่อเหตุยังไม่ได้มีการเยียวยาชดเชยให้อย่างเป็นธรรม ผู้ได้รับผลกระทบเกรงว่าจะมีการดึงเรื่องการชดเชยเยียวยาจนหมดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหาย โดยกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบและต้องการเยียวยาอย่างยุติธรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. กลุ่มประมงพื้นบ้าน จำนวนเรือกว่า 150 ลำ
2. กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ที่ขาดทุนจากการค้าขายสัตว์น้ำที่ซื้อต่อจากเรือประมงและขายไม่ออก จำนวน กว่า 50 คน
3. กลุ่มลูกจ้างเรือประมง จำนวนกว่า 50 คน