สภาทนายความน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว “บิดาแห่งทนายความไทย”

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 25 พ.ย. ที่ห้องประชุมชั้น 5 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดพิธีทำบุญ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (สุชิน อคฺคชิโน) กรรมการมหาเถรสมาคม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการการบริหารสภาทนายความ และแขกผู้มีเกียรติ อาทิ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา นายธีรัจชัย พันธุมาศ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดร.คำนวณ ชโลปถัมภ์ อดีตนายกสภาทนายความ นายเกษม สรศักดิ์เกษม ประธานกรรมการมรรยาททนายความ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เดชอุดม ไกรฤทธิ์ อดีตนายกสภาทนายความ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย นายประมาณ เลืองวัฒนะวณิช อดีตกรรมการบริหารสภาทนายความ นายอนันตชัย ไชยเดช ทนายความ ฯลฯ
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานในวันนี้ว่า สภาทนายความได้รับเกียรติจากสมาชิกทนายความ อดีตนายกสภาทนายความ อดีตประธานกรรมการมรรยาททนายความ สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่านเหล่านั้นเป็นสมาชิกทนายความ ได้มาร่วมทำบุญ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แห่งวงการทนายความเป็นอย่างยิ่ง ทรงตราพระราชบัญญัติทนายความขึ้นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2457
นอกจากนี้พระองค์ทรงสร้างเมืองจำลองที่เรียกว่า “ดุสิตธานี” ขึ้นในปี 2461 และได้พระราชทานชื่อว่า “ธรรมนูญลักษณะปกครองคณะนคราภิบาล (ดุสิตธานี)” เพื่อเป็นการกำหนดอำนาจในอันที่จะพระราชทานแด่ชาวดุสิตธานี ให้ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในวิธีจัดการปกครองตนเอง
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงเป็นนคราภิบาลผู้เป็นใหญ่ในดุสิตธานีแต่ทรงเป็นเพียงนาครผู้หนึ่งที่ทรงใช้พระนามแฝงว่า “นายราม ณ กรุงเทพ” มีอาชีพเป็นทนายความ ทรงทำหน้าที่ทนายความในเมืองจำลอง “ดุสิตธานี” ในขณะที่ทรงครองราชสมบัติอยู่ จึงได้รับการยกย่องสดุดีพระเกียรติคุณว่าพระผู้ทรงเป็น “บิดาแห่งทนายความไทย”