เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตร “การบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง” (วทน.) รุ่นที่ 3 โดยมี ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ ดร.คำนวณ ชโลปถัมภ์ ที่ปรึกษานายกสภาทนายความ ศาสตราจารย์พรชัย สุนทรพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นายสมพงษ์ จู่ตันซ่วน ผู้อำนวยการวิทยาลัยทนายความ นายพรศักดิ์ สังข์สังวาลย์ กรรมการบริหารภาค 5 /กรรมการและเลขานุการ วิทยาลัยทนายความ พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสภาทนายความ ผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วย ผู้บริหารองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 80 คน เข้าร่วม
สำหรับการอบรมหลักสูตร “การบริหารเชิงนิติศาสตร์ระดับสูง” (วทน.) รุ่นที่ 3 วิทยาลัยทนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดขึ้น เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรดังกล่าวสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการบริหารงานได้อย่างสอดคล้องกับหลักกฎหมายในทุกด้าน รวมทั้งให้ความสนับสนุนพัฒนาองค์กรในสังคมให้มีหลักธรรมาภิบาล มีคุณธรรม และแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายในทุกด้าน สอดคล้องวัตถุประสงค์ 8 ประการ 1. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมีความรู้ ความเข้าใจในกระบวนยุติธรรมอย่างลึกซึ้ง และสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรของตน ช่วยให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม 2. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่จำเป็นต่อการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ และเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกฎกติการะหว่างประเทศและกติกาภายในประเทศ 3. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้บริหารภาคเอกชน ในแง่มุมการบริหารจัดการองค์กรให้สอดคล้องกับกฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน รวมทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ 4. เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ได้ร่วมมือการวางแผน และแนวทางบริหารองค์กรที่สอดคล้องกับกฎหมาย และวางแผนการบริหารองค์กรให้สอดคล้องกับกฎกติกาสากล 5. เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจอันดีต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรของตน 6.เพื่อเป็นการยกระดับธรรมาภิบาล คุณธรรมของผู้บริหารระดับสูงให้สอดคล้องกับแนวคิดและวิธีปฏิบัติด้านนิติศาสตร์ 7. เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการนำกฎหมายไปใช้ในการปฏิบัติงานในสาขาต่างๆ เพื่อวิชาชีพทนายความเป็นที่ยอมรับในสังคมอย่างกว้างขวาง 8. เพื่อสร้างผู้นำองค์กรให้มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความเข้าใจในโครงสร้างของสังคมอันมีกฎหมายเป็นพื้นฐานรับรองการดำเนินงานในด้านต่างๆ อันจะช่วยลดข้อขัดแย้ง หรือการดำเนินงานที่ขัดแย้งต่อบทกฎหมายในเรื่องต่างๆ