วันนี้ ( 11 เมษายน 2566) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ตัวแทนชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และชาวบ้านตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 30 คน ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางมาที่สภาทนายความฯ เพื่อเข้าพบ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการฝ่ายคดีและปฏิบัติการ สภาทนายความ เพื่อขอให้สภาทนายความรับให้ความช่วยเหลือในคดีนี้ต่อไป เนื่องจากโจทก์นำฟ้องและบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถไกล่เกลี่ยคดีได้ และศาลให้มีการนัดสืบพยานโจทก์จำเลยตามที่นัดไว้เดิม โดยจะเริ่มสืบพยานโจทก์ในวันที่ 18-20 เมษายน นี้ แต่โจทก์นำฟ้องเดิมประสงค์ขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์นำฟ้อง ทำให้สมาชิกกลุ่มที่เหลือที่เคยร้องขอความช่วยเหลือจากสภาทนายความ และต้องการต่อสู้คดีแบบกลุ่มต่อไป พร้อมจะตั้งตัวแทนโจทก์นำฟ้องแทนคนเดิม และขอให้สภาทนายความยังคงให้ความช่วยเหลือต่อไป
ด้าน ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาทนายความยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่เหมือนเดิม และขอให้มั่นใจในคณะทำงานคดี ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในคดีสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และถึงแม้เหมืองแร่ทองคำจะกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ซึ่งตนมีความห่วงใยและกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับเหมืองดังกล่าว
สำหรับคดีนี้กลุ่มชาวบ้านดังกล่าวได้ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อสภาทนายความ กรณีได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับสัมปทานโครงการเหมืองแร่ทองคำบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก จังหวัดพิจิตร และตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้ร้องและชาวบ้านกว่า 6,000 คน ต้องได้รับอันตรายเสื่อมสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ ทรัพย์สินเสียหาย สูญเสียการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สภาทนายความรับให้ความช่วยเหลือโดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เป็นผู้พิจารณาดำเนินคดีให้ชาวบ้าน
คณะทำงานที่ได้รับการแต่งตั้งได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร สอบรายละเอียดจากชาวบ้านในพื้นที่ และรวบรวมเอกสารจากหน่วยงานราชการและนักวิชาการอิสระ และได้พิจารณายื่นฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อมที่ศาลแพ่ง (แผนกคดีสิ่งแวดล้อม) โดยคณะทำงานเห็นว่า ชาวบ้านผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทางบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) มีเป็นจำนวนมาก และได้รับความเสียหายในเหตุเดียวกัน ซึ่งเข้าเงื่อนไขการฟ้องคดีตามกลุ่ม (Class Action) ซึ่งเป็นการฟ้องคดีแบบใหม่ตามที่ได้มีการแก้ไข วิ.แพ่ง เรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่ม คณะทำงานจึงตัดสินใจยื่นฟ้องเป็นคดีสิ่งแวดล้อมและเป็นคดีแบบกลุ่ม (คดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศไทย)