สภาทนายความจัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ตาม พ.ร.บ.อุ้มหาย
วันนี้ ( 7 มีนาคม 2566 ) เวลา 11.00 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วยนายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช อุปนายกฝ่ายเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรรมการประชาสัมพันธ์และรองเลขาธิการ นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความ และนายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กรรมการบริหารสภาทนายความ ภาค 3 ร่วมแถลงข่าว
ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ว่า เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2564) จากการทรมานและการกระทำให้สูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นการเพิ่มประสิทธิในการบังคับใช้กฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ (ในส่วนกลาง กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ประจำสภาทนายความจังหวัดต่างๆในภาค 1 – 9)”
นายกสภาทนายความ ยังกล่าวอีกว่า การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวมีเครือข่ายเพียงพอ โดยจะใช้สภาทนายความทั้ง 9 ภาค สภาทนายความทุกจังหวัด ในการรองรับการรับแจ้งจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและพร้อมร่วมมือกับฝ่ายภาครัฐ จึงพร้อมจะช่วยเหลือในทันทีเพื่ออำนวยความยุติธรรม สภาทนายพร้อมที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกระบวนการจับกุมของพนักงานสอบสวน เนื่องจากตนมองว่าตั้งแต่พนักงานสอบสวนไปทำการจับกุมผู้ต้องหาสิทธิของผู้ต้องหาควรจะเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนดังกล่าว หลังจากจับกุมแล้วทนายความควรเข้าไปมีบทบาทเพื่ออำนวยความยุติธรรม ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ตนมองว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเคารพ และให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ตามกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วแม้จะมีบางมาตราที่บางหน่วยงานขอชะลอการใช้บังคับก็ตาม แต่คาดว่าจะมีผลในเร็วๆนี้
ทั้งนี้โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. รับแจ้งขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากประชาชนในเหตุการณ์ทรมาน การกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
2. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำใน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย
3. ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
4. ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5. เสนอความเห็นต่อสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
6. กำหนดนโยบาย แผนงาน มาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการทรมานการกระทำหรือลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการกระทำให้บุคคลสูญหายของสภาทนายความ
7. ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อเสนอสภาทนายความและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
8. หน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องและได้รับมอบหมายจากสภาทนายความ
ทั้งนี้การจัดตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายของสภาทนายความดังกล่าว เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน