วันที่ 28 ธันวาคม 2565 เวลา 14.00 น. ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 4 สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายไพบูลย์ แย้มเอม อุปนายกฝ่ายสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ และนายชัยวัฒน์ บุญเกื้อ นายทะเบียน สภาทนายความ และนายอนุสรณ์ วิชาธร ทนายความของนายคมสัน อินทร์ฤทธิ์ ผู้เสียชีวิตถูกยิงที่สถานีตำรวจนครบาลหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวช่วยเหลือ นายอนุสรณ์ ทนายความที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า คดีนี้ถือเป็นคดีอุกฉกรรจ์ สภาทนายความจะเข้าไปให้ความช่วยเหลือดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาล เพราะขวัญกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะต้องดูแลกันให้ดีที่สุด เรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไปนั้น ตอนนี้ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นฟ้องผู้ต้องหาดังกล่าว และพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล เราจำเป็นต้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เพื่อจะให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับนายอนุสรณ์ ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์
ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลนั้น สภาทนายความมีเงินกองทุนสวัสดิการทนายความที่จะให้การช่วยเหลือพอสมควร ขณะเดียวกันจะประสานไปยังกระทรวงยุติธรรม โดยจะให้นายอนุสรณ์ ผู้เสียหายไปยื่นคำขอเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนแก่จำเลยในคดีอาญา นอกจากนี้มองว่าการหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ปัญหาในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกนั้น เข้าใจว่าถ้าหากจะใช้เครื่องสแกนอาวุธก่อนเข้าสถานีตำรวจ อาจจะใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่สิ่งที่สามารถทำได้ในทันที คือ ห้องสอบสวนของพนักงานสอบสวนบนสถานีตำรวจ มีห้องเฉพาะ ดังนั้นการสอบสวนหรือเรียกคู่กรณีไปเจรจาไกล่เกลี่ยกัน ควรจะมีมาตรการซึ่งสามารถช่วยได้เป็นด่านแรก คือ การตรวจค้นผู้ที่จะเข้าไปในห้องสอบสวน เพราะการสอบสวนหรือพูดคุยต่อหน้าพนักงานสอบสวนหรือการเจรจาไกล่เกลี่ย อาจทำให้คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดบันดาลโทสะขึ้นมาได้ และอาจจะกระทำการในลักษณะดังกล่าวขึ้นได้ จึงเป็นห่วงทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และเป็นห่วงผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ที่ไปทำหน้าที่โดยสุจริต ตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งต้องมีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
สำหรับการพกพาอาวุธปืนนั้น เห็นว่าอาชีพทนายความในหลายคดีมีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะทนายความที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เวลาไปทำคดีไม่ว่าคดีแพ่งหรือคดีอาญา ล้วนแต่มีภาวะเสี่ยง เพราะอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมต่อการก่อเหตุรุนแรง จึงขอให้ภาครัฐพิจารณาการอนุญาตพกพาอาวุธปืนให้กับทนายความที่มีอรรถคดี และมีความเสี่ยงในการเดินทางไปประกอบวิชาชีพด้วย